สีมากลางน้ำ


สีมา
สีมา : หมายถึง "ขอบเขตดินแดนที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ
ที่สุดของพระสงฆ์ คู่กับอุโบสถ ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม"
ชนิดของสีมา
  • พัทธสีมา : คือเขตแดนที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ใช้สิ่งต่างๆเป็นนิมิตหรือเครื่องหมาย เช่น ต้นไม้  ภูขา  แม่น้ำ  จอมปลวก  ศิลา(หิน) เป็นต้น  ส่วนมากใช้
    ศิลาทำเป็นแท่งกลมหรือแปดเหลี่ยม  เพราะมั่นคงกว่าอย่างอื่น เช่นสีมาของวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง เชียงใหม่  สีมาของวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร เชียงใหม่ แต่สีมาที่สร้างขึ้นใหม่ไนปัจจุบันนิยมหล่อด้วยคอนกรีต คงจะเป็นเพราะทนทาน ทำง่ายกว่าศิลา เช่นสีมาของวัดศรีโสดา  พระอารามหลวง ที่ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ เป็นต้น
สำหรับนิมิตที่เป็นลูกกลม  หรือการตัดลูกนิมิตเพิ่ง
ได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง 
  • อพัทธสีมา : ได้แก่เขตชุมนุมที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดขึ้นเอง  แต่ถือเอาเขตที่กำหนดไว้ตามปรกติของบ้านเมือง  อาจจะเป็น เขตบ้าน  ตำบล  แม่น้ำ  นิคม
  • วิสุงคามสีมา : คืออาณาเขต หรือบริเวณส่วนหนึ่งภายในวัด  ที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศพระราชทานให้แก่สงฆ์  การสร้างโบสถจะต้องสร้างภายในเขตวิสุงคามสีมาที่ได้รับพระราชทานนี้เท่านั้น  และการสร้างนิมิตเครื่องหมายขอบเขตบริเวณของพัทธสีมา รอบอุโบสถก็ต้องอยู่ภายในเขตของวิสุงคามสีมาด้วย
ขนาดของสีมา
มีพระบรมพุทธานุญาตให้สงฆ์กำหนดขนาดสีมาตามความจำเป็น  ไม่ให้เล็กหรือใหญ่เกินไป  ขนาดเล็กสุดให้พระสงฆ์เข้านั่งหัตถบาส (นั่งตรงยื่นแขนออกไปจับตัวของอีกคนหนึ่งได้) ได้ไม่ต่ำกว่า ๒๑ รูป เพราะการทำสังฆกรรมบางอย่างต้องใช้พระสงฆ์ ๒๑ รูป ขนาดใหญ่ที่สุดไม่เกิน ๓ โยชน์ (...น่าจะเป็นพื่นที่ ๓ ตารางโยชน์ = ๖๐ ไร่ ...ผู้เขียน)

สีมากลางน้ำ

ชื่อเรียกเป็นภาษาบาลี  ว่า
อุทกสีมา (อ่าน อุ-ทะ-กะ-สี-มา) หรือ
อุทกุกฺเขปสีมา (อ่าน อุ-ทะ-กุก-เข-ปะ-สี-มา)
เป็นสีมาที่กำหนดเขตขึ้นในน้ำ  จัดเป็นอพัทธสีมา ชนิดหนึ่ง  แบ่งตามลักษณะของน้ำที่กำหนดขึ้นเป็น อุทกสีมา ได้ดังนี้
  • นทีสีมา : คือเขตแดนที่สงฆ์กำหนดบนแม่น้ำ เช่นแม่น้ำปิง กล่าวคือแม่น้ำนั้นจะต้องมีน้ำไหลผ่านได้ตลอดเวลา  ไม่มีตัน  ไม่ขอดแห้ง
  • สมุทรสีมา : คือเขตแดนในทะเลมหาสมุทร  การกำหนดเขตเริ่มต้นของสีมา  ให้กำหนดชายฝั่งที่น้ำงวดสุดในแต่ละวัน  ตามภาษาราชการว่า "น้ำลงเต็มที่"
  • ชาตสระสีมา : ต้องเป็นสระที่ผู้หนึ่งผูใดมิได้ขุดทำไว้  เป็นสระที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  เต็มไปด้วยน้ำที่มาได้รอบด้าน  มีน้ำพอใช้อยูเสมอ
ระยะห่างจากฝั่งของสีมา
อุทกสีมา  จะต้องมีระยะห่างจากฝั่งไม่น้อยกว่าการ
วักน้ำสาดไปโดยรอบแห่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง   สาดไปไม่ถึงสีมานั้น
สำหรับสถานที่นั้น  จะใช้เรือก็ได้  แพขนานก็ได้  ซึ่งจะต้องทอดสมอหรือผูกกับหลักยึดไว้กลางน้ำ  หรือผูกกับต้นไม้ที่เกิดขึ้นในน้ำ  จะผูกเรือหรือแพกับกิ่งของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนตลิ่งที่ยื่นลงไปในแม่น้ำไม่ได้  จะทำบันไดยื่นหรือทอดไปหาเรือหรือแพก็ได้  แต่ตอนสวดสมมติสีมาหรือทำสังฆกรรมจะต้องดึงบันไดออกไม่ให้พาดหรือสัมผัสกับส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือหรือแพ  จะใช้เรือที่เคลื่อนที่เป็นสีมาทำสังฆกรรมไม่ได้
ความแตกต่างระหว่างอุทกสีมากับพัทธสีมา
อุทกสีมา หรือ สีมากลางน้ำ มักจะเป็นสีมาที่สมมติขึ้นเฉพาะกิจในการทำสังฆกรรมแต่ละครั้ง  เมื่อจะทำสังฆกรรมครั้งหนึ่ง  ก็ทำพิธีสวดสมมติครั้งหนึ่ง  โดยกำหนดเอาเวลาที่สงฆ์นั่งหัตถบาสอยู่เท่านั้น  พอลุกจากที่หรือละหัตถบาส  ก็เป็นอันสิ้นสุดเขตสีมานั้น  จะใช้ใหม่ก็ต้องสมมติขึ้นใหม่  ในการสมมติอุทกสีมาแต่ละครั้งไม่ต้องสวดถอน  เพราะถือว่าเป็นสถานที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว  แม้จะเคยทำอุทกสีมา ณ สถานที่เดียวกันมาก่อน  ก็ถือว่าอายุแห่งอุทกสีมานั้นหมดไปแล้ว  กลายเป็นแม่น้ำ  มหาสมุทร  หรือหนองน้ำในสภาพปรกติไปแล้ว  ในสมัยโบราณจึงนิยมทำสังฆกรรมในอุทกสีมา  เพราะเชื่อว่าบริสุทธิ์มากกว่าพัทธสีมา
สำหรับการทำพัทธสีมา  ต้องสวดถอนพื้นที่เสียก่อน  เกรงว่าพื้นที่นั้นเป็นบริเวณสีมาที่ถูกสมมติมาก่อน  จะทำให้สีมาที่สมมติขึ้นทีหลังใช้ไม่ได้  เพราะเป็นสีมา
สังกระ
(สีมาที่คาบเกี่ยวกัน) ถือว่าเป็นสีมาวิบัติ  การทำสังฆกรรมใดๆบนสีมาวิบัติ  ก็เป็นกรรมวิบัติด้วย
ทั้งหมด


เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ พระสงฆ์เชียงใหม่ถูกรวบรวมการปกครองเข้ากับส่วนกลาง  ได้รับขนบธรรมเนียมพิธีกรรมต่างๆ แบบส่วนกลาง  ทำให้การอุปสมบทแบบอุทกสีมาเริ่มหมดความนิยม  เพราะได้มีการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา  เพื่อผูกเป็นพัทธสีมา และการใช้ลูกนิมิตแบบกลมก็ถูกนำมาใช้ในเขตล้านนาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน.